กฎบัตรคณะกรรมการบริหาร ความเสี่ยง

กฎบัตรคณะกรรมการบริหาร ความเสี่ยง

  1. วัตถุประสงค์

คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการบริษัท โดยมีหน้าที่ช่วยคณะกรรมการบริษัท ในการควบคุมดูแลกระบวนการบริหารความเสี่ยงโดยรวมของบริษัท ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงจะต้องดำเนินการ เพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทมีการบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิผลแลประสิทธิภาพครอบคลุมความเสี่ยงทั้งหมด

  1. องค์ประกอบและคุณสมบัติ
  • คณะกรรมการบริษัทเป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง ประกอบด้วย กรรมการ หรือ ผู้บริหารระดับสูงที่มาจากสายงานต่างๆ รวมแล้วไม่เกิน 5 คน โดยกำหนดให้ประธานคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงต้องเป็นกรรมการอิสระ ทั้งนี้ต้องมีกรรมการอย่างน้อย 1 คน มีความรู้ความชำนาญด้านการบริหารความเสี่ยง
  • สามารถอุทิศเวลาอย่างเพียงพอในการปฏิบัติงาน
  1. วาระการดำรงตำแหน่งและการประชุม
  • กรรมการบริหารความเสี่ยงที่เป็นกรรมการบริษัท มีวาระการปฏิบัติงานตามวาระของการเป็นกรรมการบริษัท ทั้งนี้ เมื่อพ้นวาระ หรือมีเหตุใดที่ไม่สามารถอยู่ได้จนครบวาระ คณะกรรมการบริษัทจะต้องแต่งตั้งกรรมการบริหารความเสี่ยงใหม่แทนอย่างช้าภายใน 3 เดือน และให้ผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งมีวาระการดำรงตำแหน่งเพียงเท่าวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการที่พ้นจากตำแหน่ง
  • กรรมการบริหารความเสี่ยงที่เป็นผู้บริหารของบริษัท มีวาระการดำรงตำแหน่งเท่าที่ดำรงตำแหน่งเป็นผู้บริหารของบริษัท เว้นแต่คณะกรรมการบริษัทจะมีมติเป็นอย่างอื่น
  • การพ้นตำแหน่งของกรรมการบริหารความเสี่ยง นอกจากพ้นตำแหน่งตามวาระแล้ว อาจพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ :
    • ตาย
    • ลาออก
    • การถอดถอนจากคณะกรรมการบริษัท
  • องค์ประชุมคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง ประกอบด้วย จำนวนกรรมการบริหารความเสี่ยงที่เข้าร่วมประชุม ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการบริหารความเสี่ยงทั้งหมด
  • คณะกรรมการบริหารความเสี่ยง มีการประชุมเป็นประจำสม่ำเสมอ อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง โดยอาจเชิญฝ่ายจัดการหรือผู้บริหาร หรือพนักงานของบริษัทที่เกี่ยวข้อง หรือบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องกับระเบียบวาระการประชุมเข้าร่วมประชุมได้ตามความจำเป็น
  • การลงมติของคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง ในเรื่องใดจะกระทำโดยถือตามเสียงข้างมากของกรรมการผู้เข้าร่วมประชุมเป็นมติเอกฉันท์
  • เลขานุการคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง มีหน้าที่รับผิดชอบต่อการเตรียมความพร้อมสำหรับการประชุม และต้องจัดทำรายงานการประชุมส่งให้กับกรรมการบริหารความเสี่ยงทุกท่าน
  1. ขอบเขต อำนาจหน้าที่ และความรับผิดชอบ
  • สอบทานและนำเสนอนโยบายการบริหารความเสี่ยงและความเสี่ยงที่ยอมรับได้ให้แก่คณะกรรมการบริษัท เพื่อพิจารณาอนุมัติ
  • กำกับดูแลการพัฒนาและการปฏิบัติตามกรอบการบริหารความเสี่ยงทั่วทั้งองค์กร
  • สอบทานรายงานการบริหารความเสี่ยงเพื่อติดตามความเสี่ยงที่สำคัญ และดำเนินการให้มั่นใจได้ว่าองค์กรมีการจัดการความเสี่ยงอย่างเพียงพอและเหมาะสม
  • นำเสนอความเสี่ยงในภาพรวมของบริษัท รวมถึงความเพียงพอของระบบการควบคุมภายใน เพื่อการจัดการความเสี่ยงด้านต่างๆ ที่สำคัญให้กับคณะกรรมการบริษัท
  • ให้คำแนะนำกับบริษัทในด้านงานบริหารความเสี่ยง และการพิจารณาแก้ไขข้อมูลต่างๆที่เกี่ยวกับการพัฒนาระบบการบริหารความเสี่ยง
  • ให้มีอำนาจแต่งตั้งคณะทำงานประเมินและติดตามความเสี่ยงของบริษัท
  • เรื่องอื่นๆ ตามที่คณะกรรมการบริษัทมอบหมาย โดยเกี่ยวกับการบริหารความเสี่ยง
  1. การรายงาน

คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงจะต้องรายงานขึ้นตรงต่อคณะกรรมการบริษัท

  1. ที่ปรึกษา

คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงอาจแสวงหาความเห็นทางวิชาชีพจากที่ปรึกษาภายนอกได้ด้วยค่าใช้จ่ายของบริษัท

  1. การทบทวนกฎบัตร

คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงจะต้องสอบทานและทบทวนความเหมาะสมของกฎบัตรเป็นประจำทุกปี  เพื่อให้เกิดความมั่นใจได้ว่าเนื้อหาในกฎบัตรนั้นสอดคล้องกับวัตถุประสงค์และกลยุทธ์ในการบริหารความเสี่ยง ทั้งนี้ กฎบัตรที่มีการปรับปรุงแก้ไขอย่างมีนัยสำคัญต้องมีการพิจารณาเห็นชอบจากคณะกรรมการบริษัท

 

กฎบัตรฉบับนี้ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 9 พฤศจิกายน 2562
ประกาศ  ณ  วันที่ 9 พฤศจิกายน 2562