กระบวนการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าที่ใช้ขยะเป็นเชื้อเพลิง

ขั้นตอนการผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้า

กระบวนการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าที่ใช้ขยะเป็นเชื้อเพลิง  เริ่มต้นจากนำน้ำดิบจากระบบประปาภายในนิคมอุตสาหกรรมมาผ่านกระบวนการปรับสภาพน้ำในโรงปรับสภาพน้ำ (Water Treatment Plant) เพื่อให้ได้น้ำปราศจากแร่ธาตุ (Demineralized  Water) เพื่อป้อนเข้าสู่เครื่องกำเนิดไอน้ำ (Boiler) ในขณะที่เชื้อเพลิง SRF ซึ่งเป็นขยะที่ได้ผ่านการสับเป็นชิ้นเล็กๆ ขนาดไม่เกิน 10 เซนติเมตร ทั้งที่อัดเป็นก้อนหรือแบบเทกอง รวมทั้งการบรรจุในแผ่นพลาสติกเพื่อป้องกันกลิ่นหรือการฟุ้งกระจายของขยะในระหว่างการขนส่งมายังโรงไฟฟ้าของบริษัทฯ หลังจากนั้นบรรจุภัณฑ์เชื้อเพลิง SRF จะถูกวางบนสายพานและถูกฉีกบรรจุภัณฑ์พลาสติกโดยเครื่องฉีกแผ่นพลาสติก เพื่อให้ชิ้นส่วนของเชื้อเพลิง SRF กระจายบนสายพานลำเลียงชนิดเอียง (Inclined Belt Conveyor) ก่อนที่จะถูกป้อนไปเข้าห้องเผาไหม้ (Combustion Chamber) โดยใช้ระบบขั้นบันได (Step Grate) และเมื่อขั้นบันไดได้ขับเคลื่อนเชื้อเพลิงไปยังห้องเผาไหม้ และขั้นบันไดมีการพลิกกลับตัว จะทำให้ด้านล่างของชิ้นส่วนเชื้อเพลิงที่ยังไม่มีการเผาไหม้บนตะกรับขั้นบันไดได้กลับตัวขึ้นข้างบน ทำให้ชิ้นส่วนเชื้อเพลิงดังกล่าวได้ติดไฟและเผาไหม้อย่างสมบูรณ์ นอกจากนั้น  การปรับความเร็วของชุดไฮดรอลิคขั้นบันไดจะช่วยให้การเผาไหม้เป็นไปอย่างสมบูรณ์เหมาะสมกับเชื้อเพลิงแต่ละชนิด โดยสามารถแสดงในรูปภาพด้านบน

เมื่อเชื้อเพลิง SRF มีการเผาไหม้สมบูรณ์และกลายเป็นเถ้าแล้ว ลักษณะของเถ้านี้สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่ เถ้าหนัก (Bottom Ash) และเถ้าเบา (Fly Ash) โดยเถ้าหนักจะตกลงสู่ด้านล่างของห้องเผาไหม้ ซึ่งจะถูกรวบรวมไปเก็บไว้ในถังเก็บเถ้า ก่อนที่จะส่งให้ผู้รับกำจัดเถ้านี้ต่อไป นอกจากนั้น การเผาไหม้ยังมีเถ้าส่วนที่เหลือที่จะปลิวไปกับอากาศร้อน หรือเรียกว่าเถ้าเบา ซึ่งจะถูกดักจับด้วยอุปกรณ์ดักจับฝุ่นแบบไฟฟ้าสถิต (Electrostatic Precipitator หรือ ESP) และถูกลำเลียงไปรวบรวมไว้ในห้องเก็บเถ้า  ก่อนที่จะให้ผู้รับกำจัดเป็นผู้กำจัดเถ้านี้ต่อไปเช่นกัน อย่างไรก็ตาม เถ้าเบาไม่มีสารพิษสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ เช่น การกำจัดด้วยวิธีฝังกลบขยะที่มีคุณสมบัติเป็นกรด  สามารถนำไปปรับสภาพด้วยเถ้าดังกล่าวที่มีคุณสมบัติเป็นด่างได้ เป็นต้น

ในช่วงที่มีการเผาไหม้จะก่อให้เกิดความร้อน ซึ่งทำให้น้ำปราศจากแร่ธาตุ (Demineralized water) ในหม้อไอน้ำกลายสภาพเป็นไอน้ำร้อนยิ่งยวด (Super Heater) โดยไอน้ำนี้จะทำหน้าที่หมุนใบพัดของเครื่องกังหันไอน้ำซึ่งมีแกนเพลาเดียวกันกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (Generator) เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า และปรับแรงดันไฟฟ้าโดยหม้อแปลง (Transformer) ให้อยู่ในระดับ 22 กิโลโวลต์ เพื่อให้สามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบไฟฟ้าของการไฟฟ้าตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับกฟภ. หลังจากนั้น ไอน้ำร้อนยิ่งยวดจะถูกกลั่นตัวเป็นหยดน้ำในหอกลั่น (Condenser) โดยอาศัยน้ำเย็นจากถังเก็บน้ำ และหอหล่อเย็น (Cooling Tower) ทำให้น้ำเหล่านี้สามารถส่งกลับเข้าไปในหม้อไอน้ำเพื่อผลิตไอน้ำใหม่ต่อไป อย่างไรก็ตามน้ำทิ้งจากกระบวนการผลิตจะไม่มีสารพิษที่เป็นอันตราย แต่จะถูกปรับสภาพน้ำด้วยสารเคมีหรือสารช่วยให้ตกตะกอนเท่านั้น โดยพักไว้ในบ่อกักเก็บน้ำ และส่งต่อไปยังบ่อระเหย (Evaporation Pond) เพื่อให้ระเหยไปตามธรรมชาติ หรือนำกลับมาใช้ใหม่ เช่น รดน้ำต้นไม้ ล้างถนน เป็นต้น

  • ระบบการเผาไหม้เชื้อเพลิงที่สมบูรณ์โดยใช้ความร้อนสูง
  • มีระบบบำบัดและฟอกอากาศที่ทันสมัย ทั้งระบบถุงกรอง (Bag Filter) และเครื่องฟอกอากาศแบบเปียก (Wet Scrubber)
  • มีระบบตรวจวัดคุณภาพอากาศที่ปลายปล่องอย่างต่อเนื่อง (CEMs) และแสดงผลตลอด 24 ชม. เถ้าที่เกิดจากการเผาไหม้ได้รับการกำจัดอย่างถูกวิธี โดยผู้รับอนุญาตประกอบกิจการโรงงานเลขที่ 101 เท่านั้น
  • ใช้น้ำประปาจากระบบประปาของการนิคมอุตสาหกรรมแก่งคอย
  • น้ำเสียจากอาคารสำนักงานจะถูกรวบรวมเข้าถังบำบัดน้ำเสียสำเร็จรูปเพื่อบำบัดให้ได้ตามมาตรฐานที่กำหนด
  • น้ำทิ้งจากระบบหล่อเย็น หม้อไอน้ำ และระบบอาร์โอ จะถูกเข้าสู่บ่อพักน้ำทิ้งเพื่อตรวจสอบคุณภาพ
  • น้ำทิ้งในบ่อพักน้ำทิ้งจะถูกนำกลับมาใช้ประโยชน์ ในการรดพื้นที่สีเขียวภายในพื้นที่โครงการ
  • พลังงานมั่นคงรองรับการท่องเที่ยวและการประกอบอาชีพในพื้นที่
  • กองทุนพัฒนาชุมและการศึกษา
  • ภาษีพัฒนาท้องถิ่นจากการสร้างโรงงานไฟฟ้า
  • กระตุ้นเศรษฐกิจจากการสร้างโรงงาน